วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

มารู้จัก ชิโน-โปรตุกีส กันเถอะ (Sino-portuguese)


ประวัติความเป็นมา
สถาปัตยกรรม ชิโน-โปรตุกีส” (sino-Portuguese Architecture) ถือเกิดขึ้นในดินแดนแหลมมลายูในยุคสมัยแห่งจักรวรรดินิยมของตะวันตก เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๐๕๔ ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำการค้าบริเวณเมืองท่ามะละกา และได้นำเอาศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนวิทยาการตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ด้วยเช่นกัน ซึ่งในช่วงเวลาที่ชาวโปรตุเกสอาศัยอยู่นั้น ก็ได้สร้างบ้านเรือนที่พักอาศัยไว้ ด้วยการออกแบบสถาปัตยกรรมตามความรู้และประสบการณ์ของตน ทำให้ผลงานสถาปัตยกรรมเหล่านั้นมีรูปแบบแนวตะวันตก

ในขณะเดียวกันนั้นเองได้ให้ช่างชาวจีนนำแบบแปลนของบ้านเรือนนั้นไปดำเนินการก่อสร้าง แต่ด้วยความรู้และประสบการณ์ประกอบกับความเชื่อที่สืบเนื่องมาจากบริบททางสังคมของช่างชาวจีน ทำให้ผลงานการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนเพี้ยนไปจากแบบแปลนที่ชาวโปรตุเกสได้วางไว้ โดยช่างชาวจีนได้ตกแต่งลวดลายสัญลักษณ์รวมถึงลักษณะรูปแบบบางส่วนของตัวอาคารตามคติความเชื่อของจีน เกิดการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมโปรตุเกสและจีน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นท่ามกลางสังคมของกลุ่มชน ๓ เชื้อชาติ อันได้แก่โปรตุเกส จีน และมาเลย์ ในดินแดนแหลมมลายูตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  ต่อมาเมื่อชาวดัตช์และอังกฤษเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนแถบนี้ ก็ได้ปรับปรุงรูปแบบของอาคารดังกล่าว โดยดัดแปลงและสอดแทรกรูปแบบ รวมไปถึงลวดลายต่างๆ เพิ่มเติมลงไปในการก่อสร้างตามแบบของตน และก็มีชื่อเรียกลักษณะการก่อสร้างอาคารเหล่านี้ว่า สถาปัตยกรรม ชิโน-โปรตุกีส
คำว่า ชิโนหมายถึงคนจีน และคำว่า โปรตุกีสหมายถึง โปรตุเกส แม้ว่าอังกฤษและดัตช์จะเข้ามามีอิทธิพลในการผสมผสานศิลปะของตนเข้าไปในยุคหลังด้วยก็ตาม ซึ่งการก่อสร้างบ้านเรือนในรูปแบบนี้ได้แพร่หลายไปยังดินแดนต่างๆ ในแหลมมลายู สามารถพบเห็นได้หลายที่ ไม่ว่าจะเป็นเมืองมะละกา เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ หรือมาเก๊า รวมไปถึงประเทศไทย

ถ้าจำแนกสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าของภูเก็ตออกเป็นยุคนั้น ก็สามารถแบ่งออกมาได้ 3 ยุค คือ ยุคแรก ประมาณช่วง พ.ศ. 2411 - 2443 เป็นช่วงของการเริ่มพัฒนาเมือง ยุคที่สอง พ.ศ. 2444 - 2475 เป็นช่วงของการผสมผสานรูปแบบสถาปัตยกรรมเอเชียกับยุโรป และยุคที่ 3 พ.ศ. 2476 - 2499 เป็นช่วงของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่หรือยุคโมเดิร์น อาคาร 3 ยุคนี้ ได้กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ของเมืองภูเก็ต ซึ่งชาวภูเก็ตตั้งใจจะรักษาให้คงอยู่สืบไป

ยุคแรก
   เป็นช่วงที่มีการก่อตั้งเมืองภูเก็ตปัจจุบัน ซึ่งเดิมเรียกว่า ทุ่งคา เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งแร่ดีบุกมากจึงมีการตั้งถิ่นฐานกันมากขึ้น อาคารในยุคนี้มักเป็นอาคารแบบตึกแถวชั้นเดียวหรือสองชั้น โครงสร้างเป็นปูนหรือดินผสมฟาง โครงหลังคาและประตูหน้าต่างเป็นไม้ ไม่มีการตกแต่งอาคารมากนัก รูปแบบอาคารมักเป็นไปตามวัฒนธรรมของผู้อาศัย ซึ่งได้แก่ ชาวจีนเป็นหลัก และที่สำคัญ คือมีการเว้นที่ว่างด้านหน้าเป็นช่องทางเดินมีหลังคาคลุมหรือที่เรียกว่า "อาเขต" หรือในภาษาถิ่น เรียกว่า "หง่อคาขี่่" (Koh kaki แปลว่า ทางเดินกว้าง 5 ฟุตจีน) อาคารในยุคนี้ปัจจุบันเหลืออยู่น้อยมากแล้วในภูเก็ต

ยุคที่สอง
   เป็นช่วงที่การค้าขายแร่ดีบุกเฟื่องฟู ในขณะเดียวกันก็มีการติดต่อค้าขายกับเมืองปีนังมากขึ้น ซึ่งอังกฤษได้เข้ามาปกครองปีนังและสิงคโปร์ และได้นำรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นที่นิยมในยุโรปช่วงนั้น คือ นีโอคลาสสิก และเรอเนอซองส์ มาใช้กับการสร้างสรรค์อาคารราชการ ซึ่งในเวลาต่อมาได้ส่งผลถึงอาคารของเอกชนและภูเก็ตก็ได้รับอิทธิพลเช่นเดียวกัน ลักษณะคืออาคารก่ออิฐถือปูนใช้ผนังหนารับน้ำหนัก รูปแบบ การตกแต่งแบบนิโอคลาสสิกจะพบในชั้นบนของตึกแถว และคฤหาสน์แบบฝรั่งที่เรียกว่า อังม้อหลาว โดยมีการตกแต่งด้วยเสาอิงแบบคลาสสิก หน้าต่างแบบฝรั่งเศสคือ ยาวถึงพื้น มีบานเกล็ดไม้แบบปรับได้ มักทำเป็นสามช่วง ช่องแสงเหนือหน้าต่างเป็นรูปโค้ง มีการตกแต่งผนังด้วยลวดลายปูนปั้นเป็นรูปสัตว์หรือดอกไม้ ส่วนชั้นล่างมักมีการตกแต่งประตูหน้าต่างแบบจีน มีการแกะสลักไม้ด้วยลวดลายของจีนเป็นรูปสัตว์ ดอกไม้ เครื่องตกแต่งที่เป็นมงคล ในอาคารตึกแถวยังยึดถือการมีช่องทางเดินหรือหง่อคาขี่ไว้เพื่อกันแดดกันฝนแก่คนเดินถนนเหมือนในยุคแรก

ยุคที่สาม
   เป็นช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเข้ามาของสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่หรือโมเดิร์น รวมทั้งการก่อสร้างแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก อาคารในยุคนี้ได้เปลี่ยนรูปแบบหน้าต่างเป็นทรงเรขาคณิตทั้งวงกลมและสี่เหลี่ยม มีการใช้กระจกสีประดับตกแต่ง ในช่วงแรกมีการผสมผสานระหว่างรูปแบบของอาร์ต เดโค กับนิโอคลาสสิก คือใช้หน้าต่างด้วยลวดลายกรีกหรือโรมันคลาสสิก ในช่วงหลังมีการทำระเบียงยื่นจากชั้นบนตกแต่งด้วยเรขาคณิตเป็นหลัก



ด้านล่างนี้เป็นลิ้งค์ของ Penang shophouse style ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส Timelineมีความใกล้เคียงกัน ซึ่งก็คือช่วงอาณานิคม



รูปแบบอาคารชิโนโปรตุกีส
รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ  
ตึกแถว(เตี้ยมฉู่)
ตึกแถว ส่วนใหญ่มีสองชั้น เป็นร้านค้ากึ่งที่อยู่อาศัย หน้าแคบแต่ลึก นิยมจัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็นห้าส่วน เริ่มจากด้านหน้าเป็นสำนักงานหรือร้านค้า ถัดเข้าไปจะพบห้องรับแขก ห้องพักผ่อน ห้องอาหาร และห้องครัว ตามลำดับ ส่วนชั้นสองจะเป็นห้องนอน

คฤหาสน์(อั่งม้อหลาว)
อั่งม้อหลาวเป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน "อั่งม้อ" แปลว่า ฝรั่ง หรือชาวต่างชาติ ส่วนคำว่า "หลาว" แปลว่า ตึกคอนกรีต อั่งม้อหลาว ก็คือคฤหาสน์แบบฝรั่งที่นายหัวเหมืองแร่ของ ภูเก็ตสร้างเป็นที่อยู่อาศัยในสมัยนั้นโดยบ้านหลังแรกที่สร้างขึ้นตามแบบชิโน-โปรตุกีส โดยช่างชาวจีนจากปีนัง ก็คือ บ้านชินประชาของพระพิทักษ์ ชินประชา นายเหมืองต้นตระกูลตัณฑวนิชตั้งอยู่ถนนกระบี่ ถือว่าเป็นต้น แบบของบ้านคหบดีจีนที่กระจายอยู่ทั่วทั้งเมืองภูเก็ต


ลักษณะเด่นของอาคารรูปแบบชิโนโปรตุกีส
-เป็นตึกแถวสองชั้น ที่แบ่งพื้นที่ใช้สอยไปตามความลึกของอาคาร
-ถ้าเป็นอาคารแบบ shop house ด้านหน้าของอาคารจะมีรูปแบบของอาร์ช (arch) ต่อเนื่องกันเป็นทางเดิน ซึ่งในภาษาจีนเรียกว่า หง่อคาขี่ หรือ arcade นั่นเอง
-จิ้มแจ้ ช่องแสงหรือชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า จิ้มแจ้ เป็นลานเอนกประสงค์ คือ บริเวณซักล้าง เป็นช่องระบายอากาศ ทำให้บ้านสว่าง หรือใช้เป็นบริเวณผักผ่อนก็ได้
-รูปแบบของอาคารได้รับมาจากทางตะวันตก แต่การตกแต่งไปจนถึงลวดลายต่างๆนั้นมาจากฝีมือและประสบการณ์ของชาวจีน ทำให้เกิดความผสมผสาน

ความแตกต่างระหว่างชิโนโปรตุกีส ขนมปังขิง และโคโลเนียล
ความแตกต่างระหว่างทั้งสามอันนี้ก็คือในส่วนแรกชิโนโปรตุกีสนั้นเป็นงานผสมผสานกันระหว่างอาคารแบบโปรตุเกสแล ะลวดลายแบบจีน รูปร่างของอาคารส่วนใหญ่ที่รู้จักกันดีก็จะเป็นตึกแถว หรือไม่ก็คฤหาสน์ ส่วนขนมปังขิงนั้นจะเน้นที่การฉลุลาดลายของพืชพรรณต่างๆลงบนส่วนประกอบของอาคารเช่น การฉลุลายในส่วนของหน้าจั่ว ชายคา เป็นต้น สุดท้ายคือโคโลเนียล ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีความหลากหลายมาก เนื่องจากในยุคอาณานิคม ประเทศที่มีอำนาจก็อยากที่จะขยายอาณาเขตของตน ทำให้มีอาคารรูปแบบตะวันตกเกิดขึ้นตามเมืองอาณานิคมต่างๆ ประเทศมหาอำนาจในตอนนั้นก็คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน เป็นต้น

ตัวอย่างอาคาร






พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว อยู่บริเวณถนนกระบี่ สมัยก่อนเคยเป็นโรงเรียนที่เจ้านาย และนายเหมืองในภูเก็ตร่วมกันออกทุนสร้าง ให้ลูกหลานมีที่เรียนแล้วจ้างครูมาสอน



ถนนถลางและซอยรมณีย์
เป็นถนนสายประวิติศาสตร์อันเก่าแก่ ตรงช่วงนี้จะมีอาคารตึกแถวเก่าที่มีรูปแบบเดิมๆเกาะกลุ่มกันอยู่เป็นจำนวนมากโดยมีจุดเด่นอยู่ตรงที่มีการเปิด ช่องทางเดินเอาไว้เหมือนในอดีต ซึ่งเส้นทางนี้เริ่มต้นจากสี่แยกถ.ถลางตัดกับถ.ภูเก็ตไปจนสุดสี่แยกตัดกับ ถ.เยาวราช มีตึกแถวกว่า 151 คูหาโดยมีตึกแถวที่น่าสนใจตรงช่วงตึกแถวบ้านเลขที่ 107 ถึง 129 ที่ตัวตึกมี รูปแบบการตกแต่งช่องหน้าต่างโค้งตามแบบสถาปัตยกรรมยุคนีโอคลาสสิค มีลวดลายที่ดงามเน้นธรรมชาติเถาไม้ ใบไม้ และรูปสัตว์ และก็มีตึกแถวตรงฝั่งเลขคู่ช่วงปลายถนน ซึ่งตึกแถวบริเวณนี้มีลักษณะเด่นอยู่ที่ประตูด้านหน้า เป็นแบบบานเฟี้ยมไม้เก่าแก่ ช่วงเสาจะกว้างเท่ากับตึก 2 คูหารวมกัน มีการนำศิลปะการเจาะช่องหน้าต่างและ ลวดลายปูนปั้นแบบอาร์ตเดโคมาใช้ได้อย่างกลมกลืนและสวยงาม



บ้านหลวงอนุภาษภูเก็ตการ ซึ่งเป็นบ้านที่สร้างในสมัยร. 7 ด้านหน้า อาคารเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลมกลมขนาดใหญ่ที่รถยนต์เข้าไปจอดเทียบได้ ชั้นล่างเป็นซุ้มโค้งเตี้ย 3 โค้ง หัวเสา จะเป็นแบบดอริก ผนังเซาะเป็นร่องลึก คล้ายแนวหินก่อ ชั้นบนเป็นระเบียง มีลูกกรงปูนปั้นประดับ หลังคาทรง ปั้นหยา ด้านปีกซ้ายมีช่องแสงเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลมประดับด้วยบานเกล็ดไม้ ด้านปีกขวาตกแต่งช่องแสงด้วย กระจกสีต่างๆ กรุในกรอบสี่เหลี่ยมมีรูปวงกลมอยู่ข้างใน
แผนที่แสดงตำแหน่งของอาคารที่น่าสนใจในจังหวัด ภูเก็ต

แหล่งอ้างอิง
เป็นต้น



วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สถาปนิก Idol


บทสัมภาษณ์รุ่นพี่สถาปนิกศิษย์เก่าคณะสถาปัตย์ ลาดกระบัง พี่จอย แห่ง อารักษ์สตูดิโอ

สวัสดีค่ะ  วันนี้ดิฉันได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ พี่จอย อารักษ์สตูดิโอ  เลยอยากนำประสบการณ์และข้อคิดดีๆมาแบ่งปันกันนะคะ  แต่ก่อนที่จะไปถึงส่วนที่เป็นบทสัมภาษณ์ก็อยากจะขอเล่าประวัติส่วนตัวของพี่จอยซักเล็กน้อยค่ะ พี่จอย ลลิตา อารักษ์เวชกุล เป็นรุ่นพี่ลาดกระบังปี25 รหัส 35 เข้าเรียนในปี2540 และจบการศึกษาปี 2545 และต่อโทที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขา Master Of Real Estate เป็นสาขาที่เรียนเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ พี่จอยได้ทำงานที่ Qbism Studio ประมาณเกือบ1 ปี ก่อนที่จะก่อตั้งอารักษ์สตูดิโอ ผู้ก่อตั้งอารักษ์สตูดิโอแรกเริ่มเดิมทีก็คือพี่ภพ(สามีพี่จอย) พี่จอย และพี่ใหม่น้องชายของพี่ภพที่จบมาทางด้านอินทีเรีย


Q : งานในช่วงแรกๆเป็นอย่างไรบ้างคะ
“งานในช่วงแรกๆเป็น บ้าน และรับฟรีแลนซ์ไปด้วย เป็นคนรู้จักที่แนะนำกันต่อๆไป งานในสาขานี้ก็คอนเนคชั่นอย่างเดียว จริงๆงานเริ่มต้นเลยก็คือบ้านที่รอยัล เจมส์ซึ่งเจ้าของโครงการเขาแฮปปี้กับบ้าน แขกไปใครมาถ้าถามถึง มันก็เป็นการบอกต่อกันไปเรื่อยๆ ก็เลยทำให้ได้งานจากส่วนนี้อีก เป็นเหมือนการต่อขยายออกไป หลังจากนั้นก็ได้ขยายสเกลของงานเป็นรับงานโครงการ โดยเริ่มแรกก็คือที่ หัวหิน, The Falls และเริ่มเยอะขึ้นจากการที่พี่ไปทำให้กับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์นั้นก็คือ Iris Group เขาก็ให้เราไปทำในทีมที่เป็นงานดีไซน์ ทั้งคอนโดตึกแนวราบ หรืออาคารสูง พอมีงานที่มีขนาดใหญ่แบบนี้ขึ้นมามันก็เหมือนเป็นการสร้างความเชื่อมั่น ทำให้เริ่มมีคนติดต่อเข้ามา แต่ส่วนใหญ่ก็เกิดจากคอนเนคชั่นทั้งนั้น ทั้งพี่ เพื่อน ลูกค้าแนะนำ หรือจากทีมวิศวกรก็มี ก่อนหน้านี้พี่ก็เคยไปเรียนที่ REC เป็นShort course ที่จุฬา เพื่อที่อยากเรียนรู้งานด้านอื่นที่ไม่ใช่งานออกแบบ เป็นการจัดสรรที่ดินให้เจ้าของโครงการว่าควรจะทำอะไร ซึ่งคนที่เข้ามาเรียนส่วนมากก็เป็นเจ้าของโครงการ หรือคนที่ทำงานในสาขาอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่นเจ้าของIris พี่ก็ไปรู้จักที่นั่น เหมือนเป็นการสร้างโอกาสให้ตัวเองนั่นแหละ หรืออย่างตอนที่ไปเรียนต่อโทงานพรีเซนต์อะไรแบบนี้มันก็ต้องทำ ก็เป็นส่วนที่ทำให้คนอื่นเห็นงานของเรา ทำให้คนในห้องมั่นใจว่า เออก็ทำงานดีไซน์ได้นะ ถ้าให้แนะนำน้องๆก็คือ เริ่มแรกไม่ว่าจะเป็นงานบ้านหรืออะไรก็ตาม ก็ต้องมีความรับผิดชอบ และทำให้มันเสร็จสิ้นเรียบร้อย พยายามเอาใจใส่งาน







โครงการ The Falls จาก http://www.arakstudio.com/



Q : งาน หรือ ผลงานของพี่ที่พี่คิดว่า เป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติวิชาชีพ คืออะไร...อุปสรรคในการปฏิบัติวิชาชีพคืออะไร
“ อุปสรรคในการทำงาน เรื่องมองว่าเราเด็กกว่าไม่ค่อยจะมี แต่ส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นคนรุ่นใหม่น่าจะดีเสียมากกว่า แต่อุปสรรคก็คงจะเป็นเรื่อง ยังเด็กงั้นค่าfee ก็คงไม่น่าจะแพง อุปสรรคค่าfee ก็ยังคงมีมาจนถึงทุกวันนี้ ถ้าถามว่าเรท ของสมาคมมันก็ออกมานานมากแล้ว แต่เมื่อนำมาคูณกับเปอร์เซ็นต์ของค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ค่าแบบก็เลยแพงขึ้นมาเรื่อยๆ ถามว่าคุ้มมั้ยถ้าได้ตามเรทของสมาคมมันก็โอเค แต่ว่าส่วนใหญ่ลูกค้าก็ค่อนข้างต่อรองเหมือนกัน ถ้าสมมติว่าทุกคนในงานออกแบบดึงมาตรฐานออกมาใช้ร่วมกันมันก็ไม่ต้องมีคำถามว่าลดได้มั้ย เป็นต้น
ความจริงแล้วก็มีปัญหาอีกเรื่องเหมือนกัน ในตอนที่จบใหม่ๆก็ยังไม่ค่อยรู้ราคาเท่าไหร่ เวลาที่ลูกค้ากำหนดbudget มา อาจจะทำให้เกินราคาไปบ้าง
เรื่องความรู้เรายังไม่ถึงเหมือนกัน เวลาที่เราตอบผู้รับเหมาหน้างาน แต่ถ้าเป็นคำถามที่ไม่รู้จริงๆกฌจะบอกไปเลยว่าไม่รู้แล้วเดี๋ยวจะกลับมาหาข้อมูลให้ค่ะ จริงๆแล้วงานสายนี้ก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น เราสามารถถามซัพพลายเออร์ได้ สมมติว่าเราไม่รู้ดีเทลการติดตั้งแคลดดิ้งหรืออะไรอย่างนี้เราก็สามารถถามเขาได้ แต่ถ้าเราเป็นฟรีแลนซ์ความน่าเชื่อถือก็อาจจะยังไม่เท่าบริษัท เขาก็อาจจะวิ่งมาหาน้อยกว่า พี่ก็จะบอกน้องๆที่ออฟฟิศว่าถ้ามีเซลล์เข้ามา อยากมาฟังก็มาฟัง มันเหมือนเป็นการบรีฟงาน เหมือนกับว่าเรายังเรียนอยู่เรื่อยๆ ถ้าเราไม่ศึกษาเราก็ไม่รู้หรอกว่าอะไรสเปคอย่างไร หรือราคาเท่าไหร่ ถ้าน้องๆได้เข้าไปอยู่ในบริษัทก็อยากให้ตั้งใจ อาจจะเก็บเป็นสมุดไว้คอยจดเลยก็ได้ มันก็จะเป็น short note ไปให้เราตลอด อย่าปล่อยให้มันผ่านไป


Q : ผลงานที่ชอบในตอนนี้ของพี่จอยคือชิ้นไหนเหรอคะ
 “ ตอนนี้ผลงานที่ชอบที่สุด คือบ้านแม่ตัวเอง(หัวเราะ) เพราะว่าไม่ได้ออกแบบมาประมาณ 2-3 ปีแล้วค่ะ เลี้ยงลูกด้วยแล้วก็ไปทำงานเอกสารเสียมากกว่า ”


Q : ข้อคิดที่สำคัญในการทำงานคืออะไร? การปฏิบัติตนต่อการทำงานทำอย่างไร
พี่พยายามวางตารางงานก่อนการทำงาน แล้วก็บอกลูกค้าว่าเรามี Schedule ประมานนี้และจะทำตามให้ได้ เพราะว่าเรื่องเวลาเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ได้หมายความว่าดิ้นไม่ได้ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเราก็ต้องมีการแจ้งลูกค้าด้วย ให้เค้าได้ทราบความคืบหน้า
ในส่วนของการทำงาน การเรนเดอร์สมัยนี้ทำออกมาได้ดีอยู่แล้ว ลูกค้าซื้อ แต่หลังจากนั้นก็เห็นใช่มั้ยว่า อย่างคอนโดบางที่ ตีฟสวยมากแต่พอออกมาจริงทำไมถึงสีแบบนี้ล่ะ หรืออาจจะเมื่อเข้าไปใช้งานแล้วทำไมไม่เวิร์คเลย หรือห้างบางห้างข้างนอกหวือหวามากเลย แต่ทำไมเวลาจะหาทางกลับที่จอดรถแล้วหลงตลอดเลย เรื่องsense of place, function ก็ต้องแม่นเหมือนกัน
การหาแรงบันดาลใจใหม่ๆก็คือ เที่ยวให้เยอะๆ ดูงานให้เยอะๆ หัดดูดีเทลหรือสังเกตุตามที่ต่างๆก็ได้เหมือนกัน


Q : คิดเห็นอย่างไรกับจรรยาบรรณวิชา คิดเห็นอย่างไรกับการออบแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม
คือเรื่องการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมเราเรียนมากันอยู่แล้วแหละ แต่เขาพึ่งมา prกัน คือเรื่องแบบลมต้องผ่าน แดดลมฝนเป็นยังไง ครัวต้องอยู่ทิศไหน เราจำได้กันอยู่แล้ว แล้วเราก็ตรวจแบบเรื่องนี้เยอะที่สุด นี่แหละกรีน มันมาจากเรา ส่วนเรื่องวัสดุว่าจะทำยังไงให้ได้ลีด หรืออะไรก็ตาม มันคือสิ่งที่ตามมา ส่วนโปรเจคต์ไหนที่จะเป็นกรีนเลยมันก็ต้องอยู่ที่ โอนเนอร์ด้วย ไม่ใช่แค่ที่เรา ส่วนเรื่องแดดลมฝน ทุกอย่างคือสิ่งที่เราต้องทำให้เขาอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าเพราะมีกฎเกณฑ์นี้แล้วเราถึงทำ เช่น เรารู้ว่าด้านนี้โดนแดดเยอะก็อาจจะใส่ฟิน หรืออะไรก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ว่าทำเป็นกระจกทั้งหมดแล้วหาฟินมาใส่ มันก็ไม่ช่วยประหยัดอะไร หรือเรื่องทิศทางลมก็เหมือนกัน ถ้าเราออกแบบโดยที่คำนึงถึงเรื่องนี้ ก็จะทำให้ช่วยลดปริมาณการใช้แอร์ เป็นต้น 


Q : พี่จอยมีสถาปนิกที่ชื่นชอบมั้ยคะ
ตอนนี้นะ พี่ชอบ Idin architect ของพี่เป้ เค้าเป็นคนง่ายมากเวลาคิด ลองดูงานนะ ไม่จำเป็นต้องเยอะหรือซับซ้อนอะไรมากมายขอให้แมสมันสวย ฟังค์ชั่นมันได้นะ เขาไม่หยุดอยู่กับที่นะ งานไม่ได้จำเป็นต้องกล่อง หรืออะไร มันอยู่ที่บริบทโดยรอบของโครงการ ก็คือชอบในตัวตนของพี่เป้ด้วยที่เค้าเป็นคนที่สนุกสนาน แล้วก็เขาน่าจะเป็นหัวหน้าที่ดี เวลาที่เห็นเขาทำงานกับลูกน้องมันก็มีความสนุกสนานเกิดขึ้น ทำให้คนที่เห็นเขาทำงาน อยากไปทำงานกับเขา


Q : พี่ๆ คิดว่า สถาปนิกรุ่นใหม่ๆ ที่ลาดกระบังผลิตออกมา มีคุณภาพอย่างไร ต้องการให้ภาควิชาปรับปรุงลักษณะบัณฑิตออกมาให้เป็นอย่างไร
พี่ว่าหลังๆมาเราเหมือนเปลี่ยนงานกันบ่อย เข้าไปที่ไหนแป๊ปๆก็เปลี่ยน แต่มันก็อาจจะเป็นเพราะว่ายังไม่เจอที่ที่ถูกใจอะเนอะ แต่หลายๆคนก็มองว่าน้องๆเปลี่ยนงานกันง่ายเนอะ อาจจะเป็นเพราะว่าสมัยนี้ทุกอย่างมันเร็ว อย่างเช่นถ้าเบื่อ ชั้นไปหาที่อื่นก็ได้ ชั้นไปเปิดร้านกาแฟก็ได้ อิสระ ในปัจจุบัน SME มันก็บูม ด้วยเหมือนกัน บางคนก็เลยนึกว่า เฮ้ยชั้นมีดีไซน์อยู่ในหัว ชั้นสามารถทำนู่นทำนี่ได้ก็เลยอาจจะเปลี่ยนงานบ่อยนิดนึงอะไรอย่างนี้ อันนี้คือที่พี่มองนะ ถ้าอยากทำงานในสายนี้ก็อยากให้อยู่ที่ไหนก็ศึกษางานที่นั่นเยอะๆก่อน ลองดูว่าพี่จะมีอะไรอย่างไรให้บ้าง แต่ถ้าจะออกไปเพื่อทำนู่นนี่พี่ก็สนับสนุนนะ
แล้วพี่ก็มองว่าสถาปนิกใหม่ๆเก่งงานคอมกันมาก เก่งขึ้นเยอะ และก็ในความเก่งตรงนี้ก็อยากให้มีความอดทนด้วย เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็มีอะไรให้ศึกษาเหมือนกัน


Q : พี่ๆ ช่วยเล่าบรรยากาศ สมัยที่เรียน ณ ลาดกระบัง ว่า เรียนกันอย่างไร ใช้ชีวิตและกิจกรรม ในคณะฯอย่างไร?
“มีแอปเปิ้ล!(หัวเราะ) ตอนแรกก็ไม่อยากจะเชื่อว่ามีอะไรแบบนี้ด้วยเหรอ แต่บรรยากาศโดยรวมก็ยังเหมือนเดิมนะ ตึกก็ยังเหมือนเดิม แต่สมัยพี่ก็มีเลคเชอร์แถวๆตรงที่เป็นห้องเย็นตอนนี้ แล้วก็มีที่ตึกเรียนรวม พี่เป็นรุ่นที่ตึกบูรนาการพึ่งเสร็จใหม่ๆ ต้นไม้ในคณะน้อยลง จำได้ว่าแต่ก่อนตรงโรงอาหารมีต้นไม้เยอะกว่านี้เดินไปตรงตึกทรงไทยก็จะร่ม สมัยนั้นก็จะมีปาร์ตี้ใต้ตึก4ชั้นบ่อย แล้วก็ทำให้รู้จักเพื่อนต่างภาคเยอะ ก่อนหน้าพี่ยิ่งบ่อยกว่าอีก ทีสิสของพีพี่ทำสถานทูตแคนาดา แอดไวเซอร์คือดร. สมชาย  พี่กับพี่ภพก็พึ่งมาสนิทกันตอนปี5 ช่วงทำพรีทีสิส แล้วก็อยู่ยาวมาจนถึงปัจจุบัน ลูก2 (หัวเราะ)”
“ อาจารย์น่ะ คือถ้าเราเข้าเรียนในสิ่งที่เค้าเตรียมมา มันไม่ได้น้อยเลยนะที่เค้าจะเตรียมให้เราในหนึ่งคลาส แล้วพอเราไม่เข้า มันก็เหมือนกับแบบ เสียความตั้งใจ เค้าก็ต้องมีโมโหกันบ้างเป็นธรรมดา มันอยู่ที่ว่าพอมันเกิดปัญหาแล้ว มันอยู่ที่ว่าเราจะเข้าไปขอโทษหรือดราม่าว่างานไม่ทันอะไรอย่างนี้ มันอยู่ที่เรา ว่าเราปรับตัวหาเค้าได้หรือเปล่า เพราะอาจารย์เค้าก็ให้อะ เค้าก็ให้ทุกรุ่นมาอย่างนี้ แสดงว่ารุ่นก่อนเค้าก็ส่งงานได้นี่หว่า แล้วทำไมรุ่นนี้ต้องเลทเค้าก็ต้องมีคำถามเป็นธรรมดา เค้าไม่ได้มาแบบว่าอยากจะแกล้งอะไรหรอก”


“ถ้าให้แนะนำ พี่อยากให้ลองทำงานในบริษัทก่อนซัก 4-5 ปี ก่อนที่จะทำฟรีแลนซ์หรืออื่นๆ เพื่อเก็บประสบการณ์ เพราะรุ่นพี่น่าจะสอนรุ่นน้องได้เร็วกว่า แล้วก็จะได้รู้จักว่าต้องทำงานยังไง ได้รู้จักคนมากขึ้น พี่ว่ามันส่งผ่านได้เร็วกว่าที่เราเริ่มต้นเรียนรู้ด้วยตนเอง เหมือนเป็นการวางรากฐาน”



สัมภาษณ์โดย นางสาวณัชชา  วรเศรษฐ์  52020024